องค์การอนามัยโลกยกขอนแก่นโมเดล เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน
จัดบุคลากรทางการแพทย์จาก 7 ประเทศ เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการหวังให้นำไปปรับใช้แก้ปัญหาในแต่ละประเทศ
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น นายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ ด้านการสร้างความเข้มแข็งทางวิกฤตและการช่วยเหลือฉุกเฉินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดให้มีขึ้น ณ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ว่า เป็นความน่าภูมิใจและโอกาสที่ดีที่เครือข่ายระหว่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาเรียนรู้การบริหารจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่จังหวัดขอนแก่นเป็นต้นแบบที่ดี ในกลุ่มประเทศอาเซียนเราอยู่อันดับการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ รองลงไปคือเวียดนามและมาเลเซีย แต่ประเทศไทยมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีขึ้นมาก ปัจจุบันเรามียอดผู้เสียชีวิตปีละ 2 หมื่นกว่าราย การแก้ปัญหาทำร่วมกันหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการความเร็ว การบังคับใช้กฎหมาย เรื่องการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการเมาแล้วขับรถ การใช้อุปกรณ์ในการป้องกันอย่างหมวกกันน็อก การใช้เข็มขัดนิรภัย หลายๆ เรื่องจังหวัดขอนแก่นทำได้ดี ยกตัวอย่างการตรวจจับความเร็วบนถนนมิตรภาพ ซึ่งหลายจังหวัดสามารถนำไปขยายผลใช้ได้ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ 5 วันที่จัดขึ้นนี้ ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในประเทศของตัวเอง
ครั้งนี้มีเข้าร่วมทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ไทย ศรีลังกา เวียดนาม และมีทางประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมสังเกตการณ์ แลกเปลี่ยนเทคนิคที่ได้ผลดี ประเทศใดมีเรื่องดีและสิ่งดีๆ จากขอนแก่น

ด้าน นพ.สัญชีพ กุมาร บอยฮ์ (Director, WHO CC for emergency and trauma care, New Delhi) ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ฉุกเฉินและวิกฤติบำบัด ของประเทศอินเดีย กล่าวถึงการเลือกประเทศไทยเป็นที่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการว่า เราดูจากสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในแต่ละวันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว จะเห็นว่า ประเทศไทยมีการจัดการที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นเป็นผู้นำด้านการจัดการปัญหานี้จากประสบการณ์การทำงานกว่า 25 ปีที่ผ่านมา จนทุกวันนี้สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ ซึ่งมีกระบวนการจัดการรักษาที่ดีทั้งก่อนการมาถึงโรงพยาบาลและช่วงเวลาที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล และคิดว่า เมื่อผู้เข้าอบรมกลับไปยังประเทศของตัว สามารถนำตัวอย่างความสำเร็จไปปรับใช้ อ่านเรื่องราวของประเทศไทยแล้วได้ความรู้ แต่ถ้ามาเห็นกับตาจะเป็นประโยชน์มากขึ้น ยิ่งได้มาแบ่งปันประสบการณ์ ส่วนประเทศญี่ปุ่นที่มาสังเกตการณ์ เราเชิญมาเพื่อเชื่อมความรู้ระหว่างภูมิภาค ซึ่งญี่ปุ่นจัดอยู่ในอีกภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก เราจะได้เรียนรู้เชิงเทคโนโลยีกับกระบวนการทำงานที่ดีของประเทศญี่ปุ่นไปพร้อมกันด้วย ยกตัวอย่างการมาเรียนรู้การใช้เครื่องอัลตราซาวน์ของหมอและพยาบาลในอินเดีย เป็นที่สำคัญคือ เราจะนำไปปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัยในประเทศของพวกเราด้วย

นายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้ (WHO-SEARO) ระบุว่า องค์การอนามัยโลกภูมิใจกับการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการสร้างศักยภาพของภูมิภาค ประเทศไทย โดยเฉพาะขอนแก่น เป็นโมเดลแหล่งเรียนรู้ของประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาหลายประเทศนำขอนแก่นโมเดล ไปปรับใช้กับประเทศตัวแต่ไม่ได้ทำตามเหมือนทุกอย่าง แต่เอาไปพัฒนาระบบในประเทศเขา ส่วนประเทศไทยเองจะได้เรียนรู้การจัดการกับปัญหาที่มีอยู่ เช่น การบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันอุบัติเหตุ การใช้ข้อมูลเพื่อการจัดการ ในข้อจำกัดด้านงบประมาณบางประเทศมีจำกัดกว่าบ้านเรา แต่เขาสามารถบริหารจัดการได้ดี ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกเห็นว่า การปกป้องชีวิตของมนุษยชาติในแต่ละประเทศ เสมือนการลงทุนที่รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องทุ่มให้ ไม่ต่างจากการลงทุนตลาดหุ้น เพื่อผลการตอบแทนที่ดีออกมาเป็นความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ด้วยการเพิ่มงบประมาณให้มากขึ้น
องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา มัลดีฟส์ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ติมอร์-เลสเต และไทย จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกันทุกปี ด้วยเหตุที่ภูมิภาคนี้มีประชากรอาศัยอยู่ถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก จำเป็นต้องมีการจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นภารกิจการจัดการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ให้กับประชากรอย่างเร่งด่วนและเกิดความยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทีมข่าว Roadsafety Newstizen